ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นคดีที่นางสุภา โชติงาม (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศฯทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (นางสุภา) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรถยนต์และผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 ที่ออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา นั้น การลงโทษผู้กระทำความผิดได้ จะต้องปราศจากข้อสงสัย
แต่ปรากฎว่ารูปแบบใบสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่ง บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวน กำหนดไว้เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่า ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางอาญา
และขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมฯ จึงเป็นการออกกฎที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำ
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีการเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับกับการชำระภาษีรถประจำปี โดยหากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน หากไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ ก็จะมีความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้
โดยหลักการการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำ 2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ เห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 160 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดค่าปรับนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถไว้ 5 เท่าของค่าปรับสูงสุดที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
ผู้ฟ้องคดี (นางสุภา) จึงเห็นว่า มาตรา 160 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2566 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดค่าปรับจำนวนแน่นอน จึงเป็นการตัดอำนาจดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรที่จะพิจารณากำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ต้องเปรียบเทียบปรับตามอัตราที่ประกาศกำหนดเท่านั้น
จึงขัดต่อความมุ่งหมายของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่มีเจตนารมณ์ เพื่อควบคุมกำกับการใช้รถให้เกิดความปลอดภัย ส่งเสริมวินัยจราจร และให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดด้วยความเสมอภาค
อีกทั้งความว่า “เกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าปรับ” ตามบทบัญญัติมาตรา 140 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับนี้ ย่อมมีความหมายเพียงให้อำนาจกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจ เป็นการให้อำนาจกำหนดเกณฑ์หรือเหตุอันจะนำมาเป็นข้อพิจารณาที่เจ้าพนักงานจราจรจะใช้ในการกำหนดจำนวนค่าปรับ เพื่อที่จะให้การลงโทษมีตวามยุติธรรม เหมาะสม และเป็นธรรมแก่บุคคลรายกรณี
มิได้มีเจตนารมณ์ให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่สอง (ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจแห่งชาติ) กำหนดอัตราค่าปรับที่แน่นอนตายตัว ประกอบกับอัตราค่าปรับที่กำหนดไว้ท้ายประกาศดังกล่าว ไม่ถูกต้องและขัดต่อกฎหมายอื่น อันมีผลทำให้ผู้ขับขี่รถไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
อีกทั้งประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ มีสถานะเป็นกฎที่มีผลให้บุคคลต้องได้รับโทษ เสียสิทธิ หรือกระทบกระเทือนซึ่งสิทธิ แต่มิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงมิได้ดำเนินการตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562
อันไม่เป็นไปตามเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎ และขัดต่อหลักการฟังความของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายมหาชนที่ฝ่ายปกครองจะต้องนำมาใช้ประกอบในการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 จึงเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
1.เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และ 2.ทุเลาการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีนี้ เดิมศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ คร.486/2564 ลงวันที่ 7 ธ.ค.2564 กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับความร้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องแล้วพิพากษาตามรูปคดีต่อไป
ต่อมาศาลฯมีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 กระทั่งในเวลาต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศฯทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ยังมีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้