วานนี้(19 ม.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
.
นอกจากนี้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ในวันที่ 19 มกราคม 2566 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพฯ
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงคมนาคม ได้แปรนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางทางรางทุกเส้นทาง โดยระยะแรกได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน และ บางซื่อ-รังสิต) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟทางไกลจะเปิดให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น
.
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ในลำดับแรกจะดำเนินการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน โดยในวันนี้ (19 มกราคม 2566) มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 27 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน 10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน
.
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุก ๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี
.
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า สำหรับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่ประชาชนได้รับความสะดวก สบาย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาว
.
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน ได้ปรับมาใช้การเดินรถบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงสถานีดอนเมือง โดยยกเลิกการให้บริการรับ – ส่ง ผู้โดยสารป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ซึ่งผู้ใช้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุบนตั๋วโดยสาร สำหรับขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม
.
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองให้สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วยการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และในอนาคตเตรียมเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอย่างบูรณาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รมว.คมนาคมและคณะผู้บริหารได้ลงพื้นที่บริเวณที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาเป็นจุดเชื่อมต่อขบวนรถไฟทางไกล และรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายและการคมนาคมบริเวณพื้นที่รังสิต เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม
.
‘ศักดิ์สยาม’ปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์!!เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-มธ.ศูนย์รังสิต มุ่งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมแบบไร้รอยต่อ
- Advertisement -