ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันรำลึกการจากไปของ”สืบ นาคะเสถียร” ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 31 ปี แม้กาลเวลาจะพัดพาเรื่องราวการกระทำของ “สืบ นาคะเสถียร” ให้เหลืออยู่เพียงในความทรงจำ แต่ก็เป็นความทรงจำที่ใครหลายคนนำมาใช้เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และมาสานต่อจนเป็นรูปเป็นร่างตามเจตนารมย์ผู้วายชนม์
.
ภาพนั้นปรากฏชัดมาตั้งแต่ 18 วันหลังการจากไปของสืบ เมื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินเจตนานั้นต่อไป อีกหนึ่งปีต่อมา’ผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง’ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย อันเป็นหลักประกันสำคัญของการดูแลผืนป่าใหญ่ที่สำคัญและอุดมสมบูรณ์ของประเทศไว้ ก็เป็นผลมาจากการหามรุ่งหามค่ำเขียนรายงานนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกของสืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต-ค๊อกซ์
.
ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้น ทำให้กลุ่มป่าตะวันตกยังคงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยนำเอารูปแบบการจัดการของทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งไปขยายยังป่าข้างเคียงจนครบทั้งกลุ่มป่า ดังปรากฎชัดในเรื่องการกระจายตัวของเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศป่าไทย และเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า ไปยังพื้นที่อนุรักษ์รอบๆ และมีแนวโน้มจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี
.
สืบ นาคะเสถียร เคยบอกว่า “ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
.
“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” คำนี้ สืบ นาคะเสถียร พูดขึ้นในเวทีสิ่งแวดล้อม 33 เป็นการประกาศเจตนารมย์ที่จะปกป้องสัตว์ป่าที่ใครหลายคนในเวทียังคงจดจำน้ำเสียงของผู้พูดได้เป็นอย่างดี เพราะสัตว์ป่าพูดด้วยตัวเองไม่ได้ ในวันนี้ผู้คนที่รักและหวงแหนในการดำรงอยู่อย่างสมดุลของสัตว์ป่าในระบบนิเวศ ต่างล้วนพูดในคำเดียวกับสืบ แม้ทุกวันนี้ค่านิยมการล่าการกินสัตว์ป่าจะยังปรากฎอยู่ ทั้งเกิดช่องทางใหม่ๆ ในการซื้อขาย แต่ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ต่างแสดงออกอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งล้าหลัง และพร้อมจะใช้เครื่องมือใหม่ๆ ส่งเสียงปกป้องสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน
.
ร่วมรักษาป่าใหญและสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร www.seub.or.th/donate/
.
- Advertisement -