หน้าแรกข่าวเด่นย้อนรอยครบรอบ 13 ปี 'นายกฯปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' คว้าชัยนะในปี 54 สู่เส้นทางนักโทษหนีคดี ที่ยังไม่ได้กลับบ้านตามพี่ชายเสียที

ย้อนรอยครบรอบ 13 ปี ‘นายกฯปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ คว้าชัยนะในปี 54 สู่เส้นทางนักโทษหนีคดี ที่ยังไม่ได้กลับบ้านตามพี่ชายเสียที

เมื่อย้อนไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งจากประชาชน 15,744,190 เสียง ทำให้มี สส. ในสภา 265 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภา หลังเปิดตัว ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 สู้ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้รายงานระบุว่า พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย ผลอย่างเป็นทางการ พรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75.03% มีบัตรเสียจำนวน 3 ล้านบัตร ซึ่งจำนวนที่มากนี้อาจเป็นสาเหตุของความแตกต่าง ระหว่างผลเอกซิตโพลกับการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น ที่พรรคการเมืองเดียวจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าครึ่ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทยของทักษิณ

อันดับสองคือพรรคประชาธิปัตย์ 115 ที่นั่ง อันดับสามคือพรรคภูมิใจไทย 29 ที่นั่ง และอันดับสี่คือพรรคชาติไทยพัฒนา 15 ที่นั่ง

ส่วนพรรคที่เหลือ ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตไม่ถึง 10 ที่นั่ง มีด้วยกันอีก 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังชล 6 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 5 ที่นั่ง และพรรคมาตุภูมิ สร้างเซอไพรส์ด้วยการชิงมาได้ 1 ที่นั่ง

จึงทำให้ นายกฯปู หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวัย 44 ปี เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ยืนยันการเป็น ‘รัฐบาลของประชาชน’ ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรค (ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย) ไม่เคยพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง

กระแส #ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ เกิดขึ้นเพราะประชาชนจับตามองทั้งในฐานะ ‘ผู้นำหญิง’ และ ‘น้องสาวคนเล็ก’ ของตระกูลชินวัตร

ส่วนแนวนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเงินเดือนพื้นฐานผู้จบปริญญาตรีที่ 15,000 บาท , พักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยอย่างน้อย 3 ปี , เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ไปจนถึงนโยบายที่ขยายโอกาสให้ประชาชนในทุกระดับ เช่น กองทุนหมู่บ้าน , กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี , กองทุน SML

ในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยยังระบุว่า
“ยังมีนโยบายพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ที่ได้ให้สัญญาประชาคมกับประชาชนและมุ่งมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังทำไม่ได้ เนื่องจากถูกรัฐประหาร คสช. ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียก่อน ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่งทางรางซึ่งจะให้บริการทั้งการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและบริการ, เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งเป้าคิดค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย” (ซึ่งเหตุการัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นในปี 2557)

“ย้อนรอยดราม่าใหญ่ของนายกฯปู”
-มหาอุทกภัย กับวาทะ “เอาอยู่” แต่ “เอาไม่อยู่”
2 เดือน หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ต้องเผชิญกับมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2485

รัฐบาลได้มีมติตั้ง ศปภ. ขึ้นมาบริหารจัดการสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้ง ศปภ. ขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2554 เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดการวิกฤตน้ำท่วม พร้อมระดมทุกสรรพกำลังลงมาแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน พร้อมวาทะ “เอาอยู่” น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สร้างผลกระทบต่อประชาชนกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

-โยกย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนสี’ ไม่ชอบธรรม จนพ้นเก้าอี้นายกฯ
20 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล โดยชี้ว่า “เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คดีนี้มีนายถวิลเป็นผู้ร้องต่อศาลปกครองด้วยตัวเอง

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 อันเกิดจากการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวแห่งชาติ ถือเป็นคดีแรก ที่ยิ่งลักษณ์ถูกลงโทษให้พ้นจากตำแหน่ง แม้จะประกาศยุบสภาไปแล้วก่อนหน้านั้นก็ตาม

1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อนส่งรายงานการสอบสวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ต่อไป

28 กุมภาพันธ์ 2565 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ล่าสุด 26 ธ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีโยกย้ายนายถวิลโดยมิชอบเป็นรอบที่ 3 โดยพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับในข้อหาตามมาตรา 157 โดยศาลได้ไต่สวน และใช้ดุลยพินิจแล้วชี้ว่า ในคำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาของศาลปกครอง และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน และต้องมีการไต่สวนอีกครั้ง

-จุดไฟมวลมหาประชาชน

30 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่ลานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์กว่า 50 คนนำโดยนายสุเทพ_เทือกสุบรรณเปิดแถลงข่าวคัดค้าน และนัดชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสนในเย็นวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ….. หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดซอย ที่เสนอโดยรัฐบาล

1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างนิรโทษกรรมสุดซอย วาระที่ 3 ในเวลาประมาณตี3 ทำให้ถูกขนานนามว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับลักหลับ” และเป็นมูลเหตุให้ม็อบจุดติด มวลมหาประชาชนออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้กันอย่างล้นหลาม ส่งผลให้รัฐบาลมีมติวิป ถอนร่างดังกล่าว และยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากถูกกลุ่ม กปปส. ขัดขวาง เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง เป็นโมฆะ

12 มกราคม 2557 ผู้ชุมนุม กปปส.เดินหน้าแผนปิดกรุงเทพเพื่อเรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลาออกจากการรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนมีการเลือกตั้ง โดยผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมหน่วยราชการหลายแห่งเพื่อไม่ให้สามารถบริหารตามปกติได้ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2557 และเกิดการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

  • – จำนำข้าว เปลี่ยนนายกฯ เป็นผู้หนีคดี
    29 พฤษภาคม 2556 จุดเริ่มต้นคดีจำนำข้าว โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องศาล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดีจำนำข้าวในกระบวนการยุติธรรม โดยเกี่ยวข้องกับ 2 กรณี ได้แก่ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

โดยผลแห่ง คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว คดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 211/2560 พิพากษาให้ยิ่งลักษณ์ ต้องโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และถือว่าคดีสิ้นสุดลงโดยไม่มีการอุทธรณ์จากฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และโทษทางคดีนั้นไม่นับอายุความ พร้อมออกหมายจับ เนื่องจากยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาตามนัด ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่ คืนวันที่ 23 สิงหาคม

นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งทางปกครองจากกระทรวงการคลังให้ชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 35,717,273,028 ล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี ในอันที่จะต้องยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อไป

23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190-18 งดออกเสียง 8 คะแนน บัตรเสีย 3 เป็นผลให้ถูกเพิดถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถือเป็นการลงโทษให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เป็นครั้งที่ 2

  • – หมายจับยิ่งลักษณ์ โรดโชว์ 240 ล้าน
    22 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรณีอนุมัติและดำเนินการจัดนิทรรศการ การสัมมนา และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” วงเงิน 240 ล้านบาท เมื่อปี 2556 โดยมิชอบ

19 เม.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้อง คดีกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ในการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท พร้อมออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหตุไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี ปัจจุบันคดียังไม่ถึงที่สุด

ฉะนั้น ณ ขณะนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงยังคงมีหมายจับอีก 2 คดี และโทษจำคุก 5ปี ในคดีจำนำข้าว และรอการพิพากษาอีก 1คดี และยังมีกลุ่มคดีค้างในชั้น ป.ป.ช. อีกอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ,คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ระหว่างปี 2548 – 2553 ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำรัฐเสียหาย 1.9 พันล้านบาท และคดีร่ำรวยผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

  • – นายกฯหญิงคนแรกหนีไป

จุดเริ่มจาก ช่วงหัวค่ำของวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ‘อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง’ ได้ออกจากบ้านพักโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว ก่อนจะไปเปลี่ยนเป็นรถตู้ ที่ติดฟิล์มมืดทึบ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นพาหนะในการพรางเพื่อการหลบหนี โดยใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสระแก้วเป็นจุดหมายแรก หลายสำนักข่าวมุ่งเป้าว่ามีจุดมุ่งหมายที่กัมพูชา โดยอ้างว่ามีบุคคลระดับ VIP ทั้งของไทย และกัมพูชา ให้การต้อนรับ เพื่อต่อเครื่องบินไปยังประเทศสิงคโปร์ จากนั้นมีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมารับ เพื่อไปยังจุดหมายที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีพี่ชายรออยู่ (ทักษิณ ชินวัตร)

หลังจากนั้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ในโลกโซเชียลได้ปรากฏภาพคู่ครั้งแรก ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมนายทักษิณ ชินวัตร ขณะกำลังเดินช็อปปิ้งแบบชิลๆ ย่านถนนคนเดินหวังฟู่จิ่ง ใกล้จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าได้หลบหนีโทษออกไปอยู่กับนายทักษิณ นักโทษหนีคดีเช่นเดียวกัน

แม้วันนี้ ‘ทักษิณ’ จะได้กลับมาต่อสู้คดีที่ประเทศไทยแล้ว ประชาชนก็ยังจับตามองว่า นี่เป็นโมเดลที่จะพาตัว ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับมาประเทศไทยโดยไม่ต้องคดีเช่นเดียวกันหรือไม่

Thepoint #Newsthepoint

ยิ่งลักษณ์ชินวัตร #นายกปู #นายกหญิงคนแรก #ทักษิณ

Must Read

Related News

- Advertisement -