นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแท็กถึงกลุ่มนักเรียนเลวและน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ระบุข้อความว่า ไม่ควรมีใครถูกกล้อนผมในโรงเรียน กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
.
ผมรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง ที่วันนี้ได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่ม นักเรียนเลว ที่มีครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้กรรไกรเดินกล้อนผมนักเรียนกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรงในระหว่างเข้าแถวตอนเช้า หลังจากนั้นก็บังคับให้นักเรียนทุกคนแก้ทรงผมกลายเป็นทรงนักเรียนขาว 3 ด้านทั้งหมด แม้กฎเรื่องทรงผมโรงเรียนจะไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องตัดผมเกรียนก็ตาม
.
นี่แสดงให้เห็นว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เปลี่ยนเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติกว้างๆ ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ไปกำหนดเป็นระเบียบเอง ไม่ได้เป็นการปลดปล่อยเสรีภาพเหนือร่างกายของนักเรียน แต่กลับทำให้กฎเกณฑ์เรื่องทรงผมนักเรียนถูกกำหนดอย่าง “ไร้ขอบเขต” กว่าเดิม
.
เราในฐานะคนในสังคม ต้องตั้งคำถามว่า “ทรงผม” เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเรียนรู้ และพลเมืองของชาติที่เราอยากเห็นในอนาคต คือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เติบโตมาในสังคมที่มีเสรีภาพ หรืออยากให้เป็นคนที่ถูกบีบอยู่ในกรอบของระบบอำนาจนิยม
.
ผมคิดว่าการสอนและสร้างความสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของมนุษย์ในโรงเรียน เป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะในโลกยุคปัจจุบันเราไม่สามารถเอาวิธีคิดแบบการผลิตพลทหารของโลกยุค 100 ปีก่อน มาใช้ในการสร้างสรรค์การเรียนรู้
.
สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรต้องทำจริงๆ คือการประกาศระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ห้ามบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามนโยบายของพรรคก้าวไกล
.
- กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
- ออกข้อกำหนด “กฎโรงเรียนต้องห้าม” เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ การบังคับไปทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน)
. - อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก
.
- ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และระบบให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเมื่อครูต้องเผชิญภาวะกดดัน
- พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น
. - แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียนที่เป็นอิสระ (Student Ombudsman) เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่
. - มีการให้เครื่องมือครูในเรื่องหลักจิตวิทยาและวิธีการรับมือเมื่อเผชิญกับสถานการณ์สูง อันอาจส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ รวมทั้งต้องมีระบบให้ความช่วยเหลือคุณครูในการจัดการนักเรียนที่มีปัญหา ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักการเรียนรู้และหลักสิทธิมนุษยชนในแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
.
ผมเชื่อว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง แต่นี่คือปัญหาร่วมกันของคนทั้งสังคม ถ้าแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน เรายังปกป้องไม่ได้ เราคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นของระบบการศึกษาไทยได้
.
ผมจึงอยากเชิญชวนทุกคนในสังคมมาร่วมกันแก้ปัญหานี้ครับ ตรีนุช เทียนทอง Treenuch Thienthong // นักเรียนดี
.