เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…
“ผมอดทนไม่พูดอะไรเลยมานาน แต่วันนี้ขอพูดนะครับ
พออ่านสิ่งที่นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ก็ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้ไม่อาจจะเห็นด้วยกับนายอานันท์ ปันยารชุนแล้วกันนะครับ
ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ในกรณีมาตรา 112 ล้วนมีความทุกข์หมด คนที่ไม่มีความทุกข์คือคนที่ยุแหย่ยุยงอยู่เบื้องหลังเด็กให้เด็กออกมากระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายนี่แหละครับ
- จำเลยผู้กระทำความผิดก็มีทุกข์
- พนักงานสอบสวนที่ต้องทำคดีก็มีทุกข์ เพราะเป็นเรื่องยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาในการทำสำนวนคดี
- คณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีความทุกข์ ต้องอ่านและตัดสินใจอย่างละเอียดในการทำคดี
- พนักงานอัยการก็มีทุกข์ที่ต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง ต้องเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน
- ผู้พิพากษาในคดีมาตรา 112 ก็มีความทุกข์ที่ต้องตัดสินพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิด
- พยานในคดีมาตรา 112 ก็มีทุกข์ครับ
ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ผมเองเมื่อเริ่มต้นต้องไปเป็นพยานคดีอาญามาตรา 112 ผมไม่สบายใจเลย เครียด เพราะว่าสงสารจำเลยที่จะต้องติดคุก แต่ผมเองก็รักษาหลักนิติรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยครับ
ผมมีอาการปวดท้องหรือปวดกระเพาะอาหาร หลังจากไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ได้ไม่กี่คดี อาการคือปวดแสบปวดร้อนในท้อง จนตัดสินใจไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอยังไม่ทันส่องกล้อง ก็กล่าวเลยว่า ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องเลย หมอคิดว่าอาจารย์อานนท์เครียด กินยาลดความวิตกกังวลสักหน่อยอาการน่าจะดีขึ้น ผมก็ยืนยันว่าจะส่องกล้องดู หมอก็บอกว่าดี ก็เลยนัดส่องกล้อง ผมตัดสินใจส่องกล้องโดยไม่วางยาซีม (Sedate) การส่องกล้องเข้าไปส่องกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานมากครับ นอนตะแคงดูหน้าจอไปด้วย หมอที่ส่องกล้องก็บรรยายไปด้วยครับ ราวกับชม Discovery Channel ของร่างกายตัวเอง เป็นสารคดีชั้นเยี่ยม หมอขลิบชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารไปตรวจเชื้อโรค ก็ไม่พบการอักเสบ ลำไส้และกระเพาะอาหารสะอาดสะอ้าน ไร้ริ้วรอยแผลเป็นใดๆ สรุปคือปวดท้องเพราะเครียดแล้วน้ำย่อยหลั่งออกมามาก หมอจ่ายยาแก้เครียดมาให้ทัน อาการผมดีขึ้นทันตาเห็น
ผมได้ไปเจอพี่ทหารผ่านศึกที่เคยไปทำสงครามลับในลาว พี่เขาก็เล่าประสบการณ์ในสนามรบให้ฟัง ว่าทำไมอย่างไร จำเป็นอย่างไรจึงต้องฆ่า แล้วก็บอกว่าถ้าเครียดก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติไม่ได้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ ผมฟังแล้วก็เกิดบรรลุ เข้าใจสัจธรรม ของการทำหน้าที่
ผมฟังแล้วก็ผ่อนคลาย คิดได้ ทำใจได้ ก็เลยเลิกกินยาคลายวิกตกังวลมาแต่บัดนั้น แล้วก็ไม่ปวดท้องอีกมาจนบัดนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์หรือไม่เครียด หรือสะใจ แต่ทุกข์แล้วรู้เท่าทันทุกข์ และรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำหน้าที่อะไรอยู่
ดังนั้น ผมอยากพูดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 มีความทุกข์กันทั้งสิ้น แต่คนที่ไม่ทุกข์เลยคือคนที่ยุยงส่งเสริมเด็กให้กระทำความผิดมาตรา 112 คนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ครับ
คงต้องถามว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน มีความทุกข์หรือมีความสุขกับคดีมาตรา 112 บ้างแหละครับ”