หน้าแรกข่าวเด่น'ดร.อักษรศรี'ชี้เหตุผลทำไมรัฐประหาร'สีจิ้นผิง'เป็นไปไม่ได้!!มองความแยบยลทางการเมืองของผู้นำจีน

‘ดร.อักษรศรี’ชี้เหตุผลทำไมรัฐประหาร’สีจิ้นผิง’เป็นไปไม่ได้!!มองความแยบยลทางการเมืองของผู้นำจีน

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กบทสัมภาษณ์ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า ทำไมรัฐประหาร “สีจิ้นผิง” เป็นไปไม่ได้ !! โครงสร้างการเมืองจีนซับซ้อนซ่อนเงื่อน ประชุมลับ เป่ยไต้เหอ หากมีความเห็นต่างก็เคลียร์ใจ #สลายขัดแย้ง แล้วก็จบ!! ไม่มีการดิสเครดิตกันทางการเมืองหรือหวังยึดอำนาจ จบคือจบ
.
ท่ามกลางวิกฤติการเมืองและสงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” และปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุด จู่ๆ ก็มี “ข่าวลือ” ว่า “สีจิ้นผิง” ประธานาธิบดีของ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกรัฐประหารโดยกองทัพจีน
.
รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน กล่าวอย่างฟันธงว่า “ข่าวลือ” ดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ เพราะ “อำนาจทั้งหมด” ของจีนในยุคนี้อยู่ในกำมือผู้ชายที่ชื่อว่า “สี จิ้นผิง”
.
ที่มาข่าวลือรัฐประหาร “สีจิ้นผิง” และความซับซ้อนโครงสร้างอำนาจในจีน รศ.ดร.อักษรศรี ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน กล่าวว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงใกล้การประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 (จัดประชุมทุก 5 ปี) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ผู้นำระดับ“คีย์แมน”ของจีน ซึ่งมีอยู่ 7 คน บางคนอาจจะถูกปรับเปลี่ยนออกไปตามกลไก แต่ที่จะไม่เปลี่ยนแปลง คือเบอร์ 1 ของพรรคฯ“สีจิ้นผิง” และเป็นการครองตำแหน่งในวาระที่ 3 ของสีจิ้นผิงด้วย ดังนั้น ข่าวลือ ข่าวปล่อยในช่วงนี้ของจีน โดยเฉพาะประเด็นรัฐประหารในจีน จึงกลายเป็นที่จับตาทั้งของไทยและชาวโลก
.
รศ.ดร.อักษรศรี อธิบายว่า “จีนมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน” ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านการเมืองของจีนมีความแตกต่างจากประเทศไทย และหลาย ประเทศทั่วโลก บางเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ และจีนเองไม่เปิดเผยข้อมูลออกสื่อ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยกลายเป็นปริศนา ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองในแบบของจีน
.
หมวก 3 ใบ กุมอำนาจการเมือง การปกครอง และการทหารในจีน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน รศ.ดร.อักษรศรี ได้อธิบายกลไกการเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนี้ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน”เปรียบเสมือนเป็น “สถาบันการเมืองสูงสุดของจีน” เป็นพรรคการเมืองเดียวที่กุมอนาคตประเทศจีน ในขณะนี้ มีสมาชิก 90 กว่าล้านคน และมีกลไกโครงสร้างซับซ้อน ที่สำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าไปแทรกซึมในทุกภาคส่วนของจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
.
ทั้งนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศจีนมีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 9 พรรค เพียงแต่พรรคการเมืองอื่นส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะไม้ประดับ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้าน และตั้งแต่ปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ปกครองแผ่นดินจีน
.
“ดังนั้น ข้อเท็จจริงของการเมืองจีน คือ จีนไม่ได้มีพรรคการเมืองเดียว เพียงแต่ประเทศจีนถูกบริหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียงพรรคเดียวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 1949” รศ.ดร.อักษรศรี กล่าว
.
พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีกองทัพของตัวเอง!!
.
กองทัพจีน หรือ กองทัพปลดแอกประชาชน (People’s Liberation Army หรือ PLA) หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า “กองทัพ PLA เป็นกองทัพสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เป็นกองทัพของพรรคการเมือง ไม่ใช่กองทัพประเทศ !!
.
“ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ คือ การมีกองทัพเป็นของตนเอง ในขณะที่ พรรคการเมืองของประเทศอื่น เช่น พรรคการเมืองในสหรัฐฯ ทั้ง 2 พรรค คือ รีพับลิกัน หรือ เดโมแครต ก็ไม่ได้มีกองทัพของตนเอง (ยิ้ม) แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีกองทัพของตัวเองที่แข็งแกร่ง ในขณะนี้ สีจิ้นผิงยังได้ครองตำแหน่งสูงสุดในการคุมกองทัพจีน คือ ประธานกรรมาธิการกลางกองทัพจีน จึงสะท้อนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ โครงสร้างทางการทหาร มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร”
.
การปล่อยข่าวลือว่า กองทัพจีนก่อรัฐประหาร“ยึดอำนาจ” สีจิ้นผิงที่ดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ของกองทัพ และเบอร์ 1 บริหารประเทศ (ประธานาธิบดี) รวมทั้งเบอร์ 1 พรรคคอมมิวนิสต์ (เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์) จึงเป็นไปไม่ได้เลย ในเมื่อ“สีจิ้นผิง” ในเวลานี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยสวมหมวกแห่งอำนาจสำคัญในประเทศจีนถึง 3 ใบ !
.
“อำนาจคุมกองทัพ” หมวกใบสำคัญของ “สีจิ้นผิง”

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้นำจีนในอดีตอาจจะไม่ได้สวมหมวก 3 ใบนี้ในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างอดีตผู้นำ “เหมาเจ๋อตุง” แม้เหมาเจ๋อตุงจะใส่หมวกเบอร์ 1 คุมพรรคและคุมกองทัพ ในบางช่วงเวลา เหมาเจ๋อตุงแต่ก็ไม่ได้สนใจจะสวมหมวกประธานาธิบดีจีน
.
นอกจากนี้ ผู้นำจีนอย่าง “เติ้งเสี่ยวผิง” ก็ไม่เคยใส่หมวกเบอร์ 1 บริหารประเทศ เติ้งเสี่ยวผิงไม่เคยเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีจีน แต่เคยใส่หมวกหลักในการคุมกองทัพ คือ ประธานกรรมาธิการกลางกองทัพจีน ทั้งนี้ แม้ว่า เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ใส่หมวกสูงสุดในตำแหน่งที่เป็นทางการ แต่เติ้งเสี่ยวผิงก็คือผู้ชายหลังฉากที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของจีน
.
สำหรับ “สีจิ้นผิง” ตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อปลายปี 2012 เขาก็สวมหมวกเบอร์ 1 คุมกองทัพด้วย คือ ตำแหน่งประธานกรรมธิการกลางกองทัพจีน จากนั้น เดือนมีนาคม 2013 เมื่อมีการประชุมสภาประชาชนจีน หรือ NPC สีจิ้นผิงก็ได้เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เบอร์ 1 ในการบริหารปกครองประเทศจีน “สีจิ้นผิง ถือเป็นผู้นำจีนที่สวมหมวกแห่งอำนาจครบทั้ง 3 ใบอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้”
.
ที่สำคัญ ในช่วง 5 ปีแรกของการบริหารประเทศ “สีจิ้นผิง”ยังมุ่งสร้างศรัทธาและซื้อใจประชาชน ด้วยการประกาศทำสงครามปราบคอรัปชั่น และสงครามขจัดความยากจน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาคาใจของคนจีน และผู้นำจีนในอดีตยังไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
.
แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกตำแหน่งประธานาธิบดีจีนแบบไร้วาระ

กูรูประเทศจีน ยังกล่าวถึงความแยบยลทางการเมืองของ “สีจิ้นผิง” ว่า ในช่วงครองอำนาจครบ 5 ปีแรกและได้รับความนิยมจากประชาชนจีนด้วยการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อชนะใจคนจีน โดยเฉพาะการปราบคอรัปชั่น ในปี 2017 “สีจิ้นผิง” ก็ได้เริ่มผลักดันสิ่งที่เรียกว่า“ความคิดสีจิ้นผิง” (Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era) และได้นำ“ความคิดสีจิ้นผิง”บรรจุในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถือเป็นการปูแนวคิดเชิงสถาบันของผลงานตนเองผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสีจิ้นผิง” และต่อมา ในปี 2018 ก็ได้นำ“ความคิดสีจิ้นผิง”บรรจุในรัฐธรรมนูญของประเทศจีน และล่าสุด ยังได้นำ“ความคิดสีจิ้นผิง”บรรจุในหนังสือตำราเรียนของเยาวชนจีนอีกด้วย !!
.
ทั้งนี้ ในปี 2018 นอกจากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อนำ“ความคิดสีจิ้นผิง”บรรจุไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศจีนแล้ว ในปีนั้น ยังได้ก็มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล๊อกในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนอีกด้วย (จากเดิมที่มีวาระ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ คือ 10 ปี)
.
“การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สีจิ้นผิงเพิ่งอยู่ในวาระ 5 ปีแรกเท่านั้น คือปี 2018 ทั้งที่ยังมีเวลาอีก 5 ปี แต่สีจิ้นผิงมีความแยบยล จึงเลือกที่จะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงที่เขาได้รับความนิยมและศรัทธาจากประชาชนอย่างล้นหลาม จึงรู้จัก right timing ว่า ตัวเองควรทำเรื่องสำคัญเช่นนี้ในช่วงเวลาใด” ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานอำนาจของ “สีจิ้นผิง”ในเชิงสถาบัน และสะท้อนชัดว่า “อำนาจทางการเมือง การบริหารประเทศ และการทหารอยู่ในกำมือสีจิ้นผิงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
.
หลายคนอาจจะสงสัยว่า การวางอำนาจแบบนี้ถือเป็นวิถีทางของ“ผู้นำเผด็จการ” ไม่ฟังประชาชนเลยหรือไม่ ? รศ.ดร.อักษรศรี ตอบว่า “คงไม่ได้ขนาดนั้น” เท่าที่จับตาสถานการณ์ในยุคสีจิ้นผิงมาถึงขณะนี้ พบว่า การสร้างฐานอำนาจของสีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคนี้ ไม่ได้ทำเพื่อริดรอดหรือคุกคามประชาชน แต่เน้นใช้อำนาจที่แข็งแกร่งเช่นนี้ เพื่อจัดการกับปัญหาความทุกข์ใจของประชาชนจีนที่เคย“แก้ยาก”และผู้นำจีนในอดีตไม่เคยแก้ไขได้ เช่น ปัญหาคอรัปชั่น และปัญหาความยากจน
.
ตัวอย่างรูปธรรมในการปราบคอรัปชั่นของ“สีจิ้นผิง”ในช่วง 5 ปีแรกของการเป็นผู้นำจีน มีรายงานว่า สีจิ้นผิงสามารถจัดการกับการคอรัปชั่นได้มากถึง 1.5 ล้านกรณี ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี หรือเบอร์ 2 ของกองทัพจีน และตำแหน่งใหญ่โตใดๆ ก็ถูกปราบ หากมีหลักฐานชัดว่า ได้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยมีหน่วยงานปราบคอรัปชั่นระดับประเทศของจีนที่มีความเฉียบขาด และจัดการลงดาบกับทุกระดับ ไม่ว่าเสือหรือแมลงวัน
.
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะมองว่า สีจิ้นผิงใช้การปราบคอรัปชั่นเพื่อ “กำจัดศัตรูทางการเมือง”หรือไม่ ? รศ.ดร.อักษรศรี ตอบว่า “ก็มีบางกรณีที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามสีจิ้นผิง” แน่นอนว่า ย่อมมีบางกรณีที่ผู้ถูกลงโทษ คือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับสีจิ้นผิง แต่อย่างไรก็ดี คนเหล่านั้นล้วนมีหลักฐานในการทำผิดและคอรัปชั่นโกงกินบ้านเมือง ดังเช่นข่าวล่าสุด กรณีของฝูเจิ้งหัวและซุนลี่จุน ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีช่วย เพิ่งถูกตัดสินในข้อหาคอรัปชั่น จึงถูกโยงเข้ากับการปล่อยข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร”ยึดอำนาจสีจิ้นผิง
.
”เป่ยไต้เหอ”ประชุมลับและเป็นเวที “เคลียร์ใจสลายขัดแย้ง”

เมื่อถามว่า มีความเห็นต่างกับ“สีจิ้นผิง” ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่ ? รศ.ดร.อักษรศรี ยอมรับว่า “ย่อมมีคนเห็นต่างในพรรคฯ เป็นเรื่องธรรมดาทุกอย่างมีหลายมุมมอง” เพียงแต่เป็นความเห็นต่างในเชิงนโยบายหรือวิธีการจัดการปัญหา แต่ไม่ใช่ความเห็นต่างที่เป็นความแตกแยกแย่งชิงอำนาจ ขอยกตัวอย่าง “กรณีนโยบาย Zero Covid ของสีจิ้นผิง ต้องยอมรับว่า มีบางคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มองว่า เป็นนโยบายที่ตึงเกินไป จนสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา” จึงมีข้อถกเถียงกันว่า ถึงเวลาผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid หรือควรจะยกเลิกเมื่อไร อย่างไร
.
“ความเห็นต่างในพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นแค่การถกเถียงเชิงความคิดว่า อะไรจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือดีที่สุดในการแก้ปัญหาของชาติ แต่ไม่ใช่เห็นต่างถึงขั้นจะยึดอำนาจ” ซึ่งความเห็นต่างภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ก็จะมีการ “นัดเคลียร์ใจ” กันทุกปี ในการประชุมนอกรอบของพรรคฯ ที่เมืองเป่ยไต้เหอ (Beidaihe) ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะมีผู้บริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งผู้ใหญ่ในอดีตและปัจจุบัน ก็จะไปร่วมประชุมเคลียร์ใจกันในที่พักตากอากาศริมทะเลเมืองเป่ยไต้เหอ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคฯ มาตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง และเป็นการประชุมลับ ไม่มีใครรู้ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคของจีนตกลงอะไรกัน”
.
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อมีการประชุมเคลียร์กันจนจบที่เป่ยไต้เหอ ความเห็นต่างทุกอย่างก็จบตรงนั้น จะไม่นำข้อมูลมาโจมตีทางการเมืองหรือดิสเครดิตขัดแย้งกัน หรือพยายามที่จะล้มล้างยึดอำนาจกัน นี่คือ กลไกที่เป็นระบบแบบจีน” ดังนั้น เมื่อมีข่าวลือต่างๆ ออกมา ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองข่าวสาร “หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน จะมีความซับซ้อนและมีบริบทแบบจีนที่แตกต่างกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จึงควรจะทำความเข้าใจโครงสร้างการเมืองและการปกครองของจีนอย่างถ่องแท้ด้วย” จีนซับซ้อนซ่อนเงื่อน
.
Credit : ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2511526
.

ThePOINT #ข่าวสังคม #อักษรศรีพานิชสาส์น #จีน #สีจิ้นผิง #ประธานาธิบดีจีน #รัฐประหาร

Must Read

Related News

- Advertisement -