เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จับมือปศุสัตว์ ทลายแหล่งผลิตสินค้าหมูบดเถื่อน หลังพบกลุ่มพ่อค้าลดต้นทุนผลิตนำเนื้อหมูและเศษเนื้อไก่ไม่ทราบแหล่งที่มา มาบดผสมขายเป็นหมูบดอนามัย รวมถึงโพสต์รับซื้อหมูตาย ไก่ตาย สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค รวมถึงอาจได้รับสินค้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ กองสารวัตรและกักกัน และปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตหมูบด ส่งขายให้กับลูกค้าทั่วไป รวมถึงรับจ้างผลิต จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม พร้อมอายัดของกลางที่ตรวจยึดได้ สินค้าหมูบด รวม 15,116 กิโลกรัม รวมถึงเครื่องจักรในการผลิต คิดเป็นมูลค่า 1,862,760 บาท
ทั้งนี้ กก.1 บก.ปคบ. สืบสวนทางสื่อออนไลน์ ทราบว่า มีการโพสต์รับซื้อหมูและไก่น็อก (หมูหรือไก่ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ) จนทราบว่า พบสถานที่ผลิตหมูบดอนามัยสดในพื้นที่ จ.นครปฐม จำนวน 3 แห่ง จึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ชุดสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ กองสารวัตรและกักกัน และปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เข้าตรวจสอบสถานที่ข้างต้นทั้ง 3 แห่ง
พบสินค้าหมูบดบรรจุถุง รวมถึงซากสุกรและซากสัตว์บดผสม รวม 15,116 กิโลกรัม และอุปกรณ์การผลิต รวมมูลค่าประมาณ 1,862,760 บาท
ขณะเข้าตรวจสอบ พบบางแห่ง คนงานกำลังใช้มือคลุกเนื้อหมูและไก่ ใส่สีผสมให้เข้ากันและนำเข้าเครื่องบดผสมอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงอายัดสินค้าพร้อมอุปกรณ์การผลิตและทำการเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย
โดยการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงอายัดสินค้าพร้อมอุปกรณ์การผลิต และทำการเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ยังพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ. ต่อไป
โดย บก.ปคบ. และกรมปศุสัตว์ ฝากเตือนภัยผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าหมูบด ให้ซื้อจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้รวมถึงตรวจสอบฉลากและเลขสารบบอาหารที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ
ทั้งนี้ หากพบการกระทำลักษณะข้างต้น สามารถแจ้งเบาะแส/เรื่องร้องเรียนมายังหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือกรมปศุสัตว์ผ่านทางแอพพลิเคชั่น DLD 4.0