เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 3 คดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์ หรือปูน กาเพ็ง เป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “มาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์” และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯพ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)
โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 28 ก.พ.2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ได้รับความเสียหาย นับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมา จําเลยได้นําภาพเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในบัญชีเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “The BOTTOM BLUES” ของจําเลย ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นการ นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และได้ประกันตัว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ครั้งที่ 2 แต่มารดา ซึ่งเป็นนายประกันแจ้งว่า นายไชยอมร ยังมีอาการป่วย ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งเลื่อนฟังคำพิพากษามาเป็นวันที่ 27 พ.ค.นี้
โดยวันนี้ จำเลยทั้งสอง พร้อมทนายความเดินทางมาศาล
ศาลอาญาพิเคราะห์หลักฐานโจทก์จำเลยทั้งสองแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางเพลิงจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าเรือนจำคลองเปรม หลังกระทำแล้วจำเลยที่หนึ่งได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อ the bottom blues เผยแพร่ภาพไฟไหม้รูปพระบรมฉายาลักษณ์ และเปิดเป็นสาธารณะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้แม้จำเลยทั้ง 2 จะอ้างว่า ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงออกเพื่อ เรียกร้องให้ปล่อยตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ทั้งนี้การเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังสามารถแสดงออกได้อีกหลายวิธีการที่เลือกเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิที่มิใช่สิทธิตามปกตินิยม แม้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาต่อพระมหากษัตริย์ แต่โจทก์มีรายงานการสืบสวนและคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองว่า พยานจำเลยทั้งสองร่วมกับเพนกวิน เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องการปฏิรูปสถาบัน โดยการกระทำที่ไปจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสอง มีเจตนาทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่า หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจำเลยทั้งสอง ก็จะสามารถทำลาย สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันที่ประชาชนเคารพรักการกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะการขู่เข็ญโดยการแสดงออกด้วยการกระทำว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพชื่อเสียงกิตติคุณและลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิด
พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 217 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่หนึ่ง มีมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์กับฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นโทษที่หนักสุด จำคุกจำเลยที่1 กำหนด 3 ปี ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี และไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 จำคุกหนึ่ง 1 ปี 6เดือน และจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 3 ปี
คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 112 กำหนด 2 ปี และฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2 ปี รวมโทษแล้วจำเลยที่1 จำคุก4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี