วันที่ 17 มิ.ย. เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า วัวจะตายกี่ร้อยตัว รัฐบาลก็จ่ายชดเชยให้แค่ 2 ตัว –‘ก้าวไกล’จี้รัฐเปิดเผยข้อมูลการระบาด’ลัมปี สกิน’ เร่งสืบหาแหล่งที่มาของโรค จัดสรรวัคซีน จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้รวดเร็ว ครอบคลุม มากขึ้นกว่านี้ อย่าให้ซ้ำรอยการบริหารจัดการโควิดที่ผิดพลาด
.
ปลายเดือนมีนาคม 2564 จู่ๆ โคกระบือทั่วประเทศก็มีตุ่มเนื้อขึ้นตามลำตัว โรคประหลาดชนิดนี้สร้างความแตกตื่นไม่น้อยในหมู่เกษตรกร เพราะโคกระบือในประเทศไทยไม่เคยมีอาการลักษณะแบบนี้มาก่อน
.
โรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในเฉพาะโคและกระบือ ไม่ติดต่อสู่คน เป็นเชื้อไวรัสฝีดาษในตระกูล Capripoxvirus ที่แพร่กระจายเชื้อผ่านแมลงดูดเลือดและการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ อาการของโรคคือทำให้สัตว์มีตุ่มเนื้อขึ้นตามตัว ก่อนจะกลายเป็นแผลตกสะเก็ด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้สัตว์เสียชีวิตได้
.
ส.ส. ทวีศักดิ์ ทักษิณ กรรมาธิการแรงงาน , ส.ส.Apichat Sirisoontron – อภิชาติ ศิริสุนทร และอดิศักดิ์ สมบัติคำ สมาชิกพรรคก้าวไกลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ได้ร่วมลงสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ ต.ดอนงัว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม พบชาวบ้านสะท้อนเสียงเป็นจำนวนมาก เรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ และเยียวยามากกว่าที่เป็นอยู่ โดยต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนและเกษตรกรปศุสัตว์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาไปตามยถากรรม
.
ส.ส. หมออ๋อง Padipat Suntiphada – ปดิพัทธ์ สันติภาดา จาก จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ จนถึงตอนนี้ (15 มิถุนายน 2564) มีโคกระบือป่วยเป็นลัมปี สกินแล้วประมาณ 75,000 ตัว รักษาหายแล้ว 9,000 ตัว มีสัตว์ป่วยคงเหลือ 66,000 ตัว และมีสัตว์ตาย 9,000 ตัว จากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มียอดตายสะสมเพียง 344 ตัว ถือว่ายอดตายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แสดงให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือในประเทศอย่างร้ายแรง
.
เมื่อลองศึกษาในเชิงลึก ก็จะพบถึงความไม่ชอบมาพากลของการระบาดของโรคอยู่หลายประการ จากข้อเท็จจริงที่ว่าลัมปี สกิน ไม่ใช่โรคพื้นถิ่นของประเทศไทย แต่เป็นโรคจากต่างประเทศ นั่นหมายความได้อย่างเดียวว่าจะต้องมีการนำเข้าโคกระบือ หรือชิ้นส่วนของโคกระบือที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการกักกันโรคตามปกติใช่หรือไม่?
.
อีกทั้ง ลัมปี สกิน เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดตามระยะทางของพาหะ คือแมลงดูดเลือด ซึ่งมีระยะการเดินทางไม่ไกลนัก แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นกลับเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ก็หมายความว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศควบคุมการเคลื่อนย้ายโคกระบือนั้นล้มเหลว โรคระบาดถึงได้กระจายไปทั่วประเทศในตอนนี้
.
ในกรณีของวัคซีน กรมปศุสัตว์นำเข้าวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดสในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนที่วัคซีนล็อตที่สองอีก 264,000 โดสจะมาถึงในวันที่ 14 มิถุนายน แต่ก็ต้องยอมรับว่าล่าช้ากว่าความต้องการ จนเกษตรกรจำเป็นต้องลงมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน ตั้งแต่นำน้ำส้มควันไม้มาฉีดไล่แมลง ให้โคกินยาเขียวเพื่อแก้อาการอักเสบ ไปจนถึงการลักลอบนำเข้าวัคซีนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแช่ขวดวัคซีนใส่กระติกน้ำแข็งส่งมากับรถทัวร์ ขณะที่ภาครัฐทำได้เพียงแค่บอกให้เกษตรกรอดทนรอการนำเข้าวัคซีนจากรัฐบาลเท่านั้น
.
นอกจากนี้ การชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรก็ยังเป็นปัญหา เพราะเกณฑ์การชดเชยในปัจจุบันยึดตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยอ้างอิงราคาตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งตั้งชดเชยให้เฉพาะสัตว์ที่ตายและสูญหายจากภัยพิบัติ และช่วยเหลือไม่เกินรายละ 2 ตัว ราคาต่อตัวไม่เกิน 6,000-20,000 บาท
.
แม้ ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเห็นด้วยกับแนวทางที่ ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอว่าควรปรับการชดเชยเป็น 40,000 บาท กรณีสัตว์ตาย และจะนำไปหารือต่อ แต่อัตราดังกล่าวก็ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาตลาด
.
ทั้งนี้ต้องย้ำว่าการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวจะเยียวยาเฉพาะวัวที่ตาย และเกษตรกรจะได้รับเงินเยียวยาไม่เกินรายละ 2 ตัว ซึ่งหมายความว่าหากเกษตรกรซื้อยาฆ่าแมลงมาฉีด ซื้อยามารักษาวัวตามอาการจนรอดตาย หรือดิ้นรนไปหาวัคซีนเถื่อนมาใช้ก่อน ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย ซึ่งในกรณีเหล่านี้ นายประภัตรตอบได้เพียง “เรากำลังคิดกันอยู่” ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ก็เชิญชวนว่า ถ้าเกษตรกรอยากได้เงินเยียวยามากกว่านี้ ก็ให้ไปสมัครเข้าร่วมโครงการประกันชีวิตโค
.
การแพร่ระบาดของลัมปี สกิน จึงเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ในยุคโควิด-19 ที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาในระบบราชการหลายเรื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การควบคุมการแพร่ระบาดที่ล้มเหลว การนำเข้าวัคซีนที่ล่าช้า และการชดเชยเยียวยาที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกษตรกรได้รับจริง
.
พรรคก้าวไกลมีข้อคิดเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ในประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา การปกปิดข้อมูลโดยอ้างว่าไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบกับการส่งออกเนื้อสัตว์ จะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ที่จะซ้ำเติมความลำบากของพี่น้องเกษตรกรให้มากขึ้นไปอีก
.
การเปิดเผยข้อมูลโรค และการสืบหาต้นตอของโรคลัมปี สกินในประเทศไทย ต้องทำควบคู่ไปกับการกักกันสัตว์อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ คือหยุดการเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้า-ออก ในพื้นที่ที่เกิดการระบาดทันที รวมไปถึงการแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง และกำจัดแมลงพาหะนำโรคโดยเร็ว
.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเร่งนำเข้าและกระจายวัคซีนให้เพียงพอกับจำนวนโคกระบือที่มีกว่า 7 ล้านตัวทั่วประเทศ โดยลดขั้นตอนทางเอกสารและระเบียบราชการที่ยุ่งยากซ้ำซ้อนเกินความจำเป็นในทันที และต้องมีการชดเชย เยียวยา และสนับสนุนเงินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้เหมาะสม ครอบคลุมกับความเสียหายที่ได้รับ
.
การบริหารจัดการโรคระบาดที่ผิดพลาด เชื่องช้า หย่อนยานและอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ จะนำมาซึ่งความสูญเสียของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือของไทยอย่างมหาศาล
.
“ก้าวไกล”อัดรัฐบาล”ลัมปี สกิน”ระบาดหนักในวัวสะท้อนการทำงานล้มเหลว จวกบริหารจัดการโรคระบาดผิดพลาด เชื่องช้า หย่อนยาน ทำเกษตรกรสูญเสีย
- Advertisement -