นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุใจความระบุว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงผันผวนรุนแรง ถ้าระบบราชการยังช้า ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง! ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมวงเสวนากับ Bill Gates ซึ่งจัดโดย บริษัทเก่าของผม เครือธนาคาร JP Morgan Chase มีประเด็นสำคัญหนึ่งที่เป็นยุทธศาสตร์หลักต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
.
ผมขอชวนถกประเด็นพูดคุยกันได้ในโพสต์นี้นะครับ ก่อนอื่นผมขอเล่าเกริ่นให้ฟังก่อนว่า Bill Gates เขากล่าวไว้ว่าอย่างไรบ้าง และมุมมองขยายความของผมต่อโอกาส และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย หลังยุคโควิดควรมีโฉมหน้าอย่างไร
.
หากใครได้อ่านงานเขียนของ Bill Gates จะทราบว่า ท่านเคยเตือนภัยต่อโลกไว้ก่อนที่จะเกิดแพร่เชื้อโควิด 2 ปี โดยเขาขอให้ทั่วโลกเตรียมตัวรับมือ ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงตามที่เขาพูด นั่นแสดงให้เห็นว่า Bill Gates จับกระแส และพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติได้ค่อนข้างแม่นยำ
.
ในวันนั้นเอง เขาได้พูดเรื่องผลกระทบที่ต่อโลกของเราโดยมองข้ามช็อตจาก โควิดไปสู่ภาวะโลกร้อน โดยระบุว่า “ไม่ว่าการแพร่เชื้อโควิดเที่ยวนี้จะรุนแรงแค่ไหน จะมีผลต่อชีวิตประชากรชาวโลกไปแล้วกี่คนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ผลจากภาวะโลกร้อน จะมีผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่านี้หลายเท่า”
.
วันนี้ทั้งโลกกำลังมุ่งไปที่ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะมีวิกฤตการณ์ที่รอเราอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อเรา มากกว่าวิกฤตการณ์เฉพาะหน้านี้อีกหลายเท่า เรื่องเฉพาะหน้าก็ต้องดูแลให้ดี เรื่องในอนาคตก็ต้องวางแผนให้ทัน
.
นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ เตรียมแผนไว้ว่ามันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า ศัพท์ใช้กันอย่างแพร่หลายในระยะหลังคือ VUCA V-Volatility ความผันผวนรวดเร็ว , U-Uncertainty ความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรอีก , C-Complexity ความสลับซับซ้อน และ , A-Ambiguity ความคลุมเครือ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นภาพว่ามันจะเป็นจะเป็นอย่างไร มันจะเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า จะมีผลกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงกับประเทศเรา
.
ผมคิดว่าโควิดเป็นตัวเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ชัดที่สุดว่า
ตอนนี้ทั้งโลกอยู่ในภาวะ VUCA อย่างแท้จริง Bill Gates ยังให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจนั่นคือ “ความร่วมมือระหว่างประเทศติดลบ ขาดความร่วมมืออย่างสิ้นเชิงในทุกระดับ” ทั้งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและการรับมือ ดูได้จากมีการแก่งแย่งวัคซีนกัน
.
ผมค่อนข้างแปลกใจว่า ตอนนี้ไม่มีบทบาทของอาเซียนเลย ทั้งที่หากเรารวมตัวกันอำนาจการต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตจะมากที่สุดในโลก แต่กลับกลายเป็นต่างคนต่างคิด แบบตัวใครตัวมัน ทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์การตั้งรับ หรือแม้แต่การสั่งซื้อวัคซีนเอง เราต้องกลับมาทบทวนว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในสถานการณ์การแพร่เชื้อหรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตามก็มีมุมดีในแง่การรับมือของภาคเอกชน ส่งผลให้เรามีแนวโน้มโอกาสที่จะออกจากปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม
.
ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไป เมื่อวันก่อนว่า อีก 120 วัน จะเปิดประเทศ นั้นก็เพราะมันมีความเป็นไปได้เพราะตัวแปรสำคัญคือเรามีวัคซีนที่สามารถผลิตได้เร็ว ๆ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมหัศจรรย์มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่จะใช้เวลา 3-4 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งทำให้มั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ของ ภาคเอกชนทำให้เชื่อว่า หากเกิดการแพร่เชื้อชนิดใหม่ขึ้นอีก โลกก็น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะค้นหาวัคซีน เพื่อมาต่อกรกับไวรัสได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน 6 เดือน แต่ในโลกของ VUCA ใครจะเป็นคนที่มีความมั่นใจว่าประเภทปัญหาในระดับวิกฤตที่เราะจะต้องรับมือในอนาคต มันต้องไม่ใช่การรับมือแบบเดิมอย่างแน่นอน
.
“นี่คือบริบทในการพูดถึง New Normal หากในอนาคตเราจะเจอปัญหาที่เคยประสบมาแล้ว เราต้องมีโครงสร้างและองคาพยพที่มีความฉลาดและยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
.
ถามว่าแล้วโครงสร้างสังคมและการบริหารจัดการของเรา ณ วันนี้มันมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ว่องไว และมีความสามารถเพียงพอที่จะวิเคราะห์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนแล้วหรือไม่ ผมคิดว่าพวกเราทุกคน มีคำตอบเดียวกันคือ ยังห่างไกล เพราะระบบบริหารจัดการระดับประเทศของเรา โดยเฉพาะระบบราชการ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนาน ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าขาดวัฒนธรรมการบริหารข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องเตรียมการรองรับโลกที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หากยังเป็นอยู่แบบนี้ โอกาสที่จะปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตก็ยังน้อยเหมือนเดิม
.
“กรณ์”แนะเตรียมการรับมือโลกหลังยุคโควิดผันผวนรุนแรง เตือนถ้าระบบราชการยังช้าไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง! เชื่อ120 วันเปิดประเทศเป็นไปได้ถ้าวัคซีนผลิตได้เร็ว
- Advertisement -